บทศึกษาพัฒนา การเกษตร ประเทศไทย

บทศึกษาพัฒนาการเกษตร ประเทศไทย ศึกษาและรวมรวมโดย อุดม ฐิตวัฒนะสกุล ถึงความเป็นมาเป็นไปของระบบงานเกษตรทุกภาคส่วนที่เราเกี่ยวข้อง

อยากเห็นการเกษตรเราเติบโต พัฒนายั่งยืนมีเสถียรภาพพัฒนาก้าวไกลเป็นผู้นำในอาเซี่ยน ทั้งยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกทั้งพืชอาหาร พืชพลังงาน รวมถึงพืชประดับ จากประสพการณ์ที่ทำงานอยู่ในแวดวงการเกษตรรวมถึงในระบบการศึกษา มีเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาและมุมมองสังคมไทย ที่อาจต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายร่วมศึกษาและแก้ปัญหาไปพร้อมๆกัน

การพัฒนา เกษตรไทย ให้ยั่งยืน

การพัฒนาเกษตรไทย ให้ยั่งยืน

บทศึกษาพัฒนาการเกษตร
อุดม ฐิตวัฒนะสกุล

(คำนำ)

จากสุวรรณภูมิ สู่สยามประเทศ ดินแดนเกษตรกรรม หล่อเลี้ยงชาวเมือง และมีโอกาสแลกเปลี่ยนการค้า เมื่อครั้งเจริญสัมพันธ์ไมตรีสู่ต่างแดน พืชพรรณ ธัญญาหารการเขตกรรม เจริญรุ่งเรืองมาตามวิวัฒนาการของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางกาลเวลาจวบจนปัจจุบัน การผลิตทางการเกษตรยังไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่การผลิตที่มีอย่างจำกัด รวมถึงปัจจัยการผลิตที่มิได้เพิ่มมากพอ เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน

วันนี้หากจะตระหนัก ถึงอุปสงค์และอุปาทาน ที่ขาดความพอดี และยั่งยืน เราคงต้องร่วมมือร่วมใจคิดทบทวนถึงความเป็นจริง อันจะทำให้เรายังคงความสามารถผลิตสินค้าเกษตร ตอบสนองระบบตลาด แบบมีศักยภาพอย่างมั่นคง ยั่งยืน โดยมิได้สัมฤทธิ์ผล อันเกิดแก่บุคคล หน่วยงาน องค์กรใดๆ โดยลำพัง

หากแต่ต้อง ร่วมมือร่วมใจในบุคคล รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ที่แตกต่างกัน แบบสามารถประสานและขับเคลื่อนทางการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าทางการตลาด สู่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน บนพื้นฐานงานวิจัย และพัฒนาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและทันสมัย

โดยจะไม่เป็นการแข่งขัน ในเชิงบั่นทอน แต่จะเสริมสร้างในทุกๆ ภาคส่วน แม้ที่ผ่านมาการพัฒนาจะถูกเหนี่ยวรั้งทางเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพ หรือจากกิจกรรมที่เกิดความเสี่ยงแห่งความสำเร็จ อันเกิดจากตัวบุคคล การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ รวมถึงนโยบายไม่สอดคล้องซึ่งล้วนเป็นเหตุบั่นทอนทางการพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ดังนั้น เพื่อการรับรู้และเกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืน อันเป็นการสร้างความเสถียรภาพแก่ประเทศชาติ และประชาชน จึงขอแจงปัญหา ข้อมูลเชิงประจัก ดังนี้

ก. ด้านตัวบุคคลเกษตรกร ส่วนใหญ่ขาดทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญ และความเชื่อมั่นทัศนคติในอาชีพ ตัวอย่างผู้นำอาชีพ ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้สืบสานอาชีพ รวมถึงแรงจูงใจที่ดีในการอาชีพนั้นๆ

ข. ด้านสถานที่ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นที่ส่วนบุคคล ที่เช่า ที่สาธารณะต่างๆ อาทิ แม่น้ำ ทะเล ป่าชุมชน ฯลฯ ขาดความเหมาะสมและสมดุล

ค. ด้านธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่มีการเปลี่ยนแปลง จากการใช้ที่เกินความพอดี หรือใช้อย่างขาดความระวัง จากจิตสำนึกหรือความรู้ รวมถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง หรือเกิดจากน้ำมือมนุษย์

ง. ด้านแหล่งน้ำ บุคคล แหล่งน้ำสาธารณะ ที่มีอยู่ในธรรมชาติมากมาย แต่ที่ผ่านมาให้เราเห็นได้ว่าการเกษตร ด้านการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รวมถึงประมง ยังคงมีความเสี่ยงต่อปริมาณใช้สอย กักเก็บและระบบส่ง

จ. ด้านปัจจัยการผลิต ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นที่สุดที่ไม่นับรวมเรื่องที่ดิน แหล่งน้ำ วันนี้เราหลีกเลี่ยงปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อภาพรวมไปไม่พ้น ไม่ว่าพันธุ์ดี วัสดุอุปกรณ์ ตีราคาเหมาะสม น้ำและการบริหารจัดการที่ดีเหมาะสม บุคลากร เงินทุน ตลอดจนระบบที่ดีและสอดคล้อง จนถึงงานปรับปรุง ซ่อมบำรุงเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์

ฉ. ด้านการจัดหาพัฒนาพันธุ์ งานเกษตรบางอย่าง ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม หรือสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การเข้าถึง ซึ่งข้อมูลผู้บริโภค จะทำให้ความสามารถในการผลิตเกิดประสิทธิภาพ

ช. ด้านการจัดการผลผลิต และผลิตภัณฑ์ สินค้าส่วนใหญ่มักขายตามคุณภาพ ขนาดและปริมาณ หากเกษตรกรสามารถผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็ย่อมเกิดความต่างจากที่เคยปฏิบัติอย่างธรรมดา มาในอดีต โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม และความรู้ใช้อย่างสอดคล้อง อีกทั้งรักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

ซ. ด้านการแปรรูป การเพิ่มมูลค่า และบรรจุภัณฑ์ สินค้าเกษตรมากมาย หลากหลายชนิด มีราคาไม่มาก หากผลิตแล้วขายทันที หากสามารถแปรรูป เพิ่มมูลค่าหรือต่อยอด เข้ากระบวนการต่างๆ ทั้งในรูปแบบอุตสาหกรรมถนอมอาหาร หรือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ จะทำให้สามารถจำหน่ายและนำไปใช้ได้เลย การคัดขนาดก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการทำคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ หรือแม้การบรรจุภัณฑ์ก็เป็นหนทางหนึ่งเช่นกัน

ฌ. ด้านระบบการศึกษาในระบบและนอกระบบ วิชาการเกษตรและสหกรณ์ที่มีการเรียนการสอนยังไม่สามารถตอบโจทย์ในการใช้งานจริงในเชิงปฏิบัติและประกอบอาชีพทั้งองค์ความรู้เชิงวิชาการที่ยังมิได้บูรณาการกับภูมิปัญญา และการประสานกับเทคโนโลยีที่มีการประยุกต์ให้เหมาะกับงานสภาพสถานการณ์ที่มีปัจจัยต่างๆ ในระดับสายอาชีพหรือสายสามัญ มิอาจผลิตเกษตรกรที่มีความพร้อมและความสามารถระดับสูงตอบสนองต่อตลาดแรงงาน หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ กิจการให้ประสบความสำเร็จได้

ญ. ด้านการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ และธรรมาธิบาลงาน ธุรกิจเกษตร มีความสำคัญมิได้ย่อหย่อนกว่าอาชีพอื่นใด การปลูกฝังแนวความคิด จิตวิญญาณ เชิงบวกจะเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสำเร็จในอาชีพอย่างมีนัยสำคัญ อันมิได้แตกต่างจากอาชีพอื่นใด

ฎ. ด้านการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคแห่งความสำเร็จ มีเกษตรกรไม่น้อยที่ผ่านขั้นตอนชีวิตในการประกอบอาชีพ ทั้งเวลา วิริยะอุตสาหะ ความมุ่งมั่น อดทน ตลอดจนการสังเกต และจดจำบันทึก จนได้มาซึ่งโอกาสและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเป็นตัวอย่างหรือมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักในสาขาอาชีพนั้นๆ การใช้โอกาสเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ กระจายไปสู่ผู้ประกอบอาชีพเดียวกันหรือให้ความรู้ผู้เริ่มประกอบอาชีพใหม่ ให้มิต้องใช้เวลาลองถูกลองผิด ตลอดจนการเรียนรู้ศึกษาดูงานนอกท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์และนำมาใช้ได้จริง หรือการนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สัมฤทธิ์ตามความตั้งใจ

ฏ. ด้านความร่วมมือในสังคม ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค หรือระดับประเทศการให้ความร่วมมือในทุกๆ ระดับ จะเป็นการสานสัมพันธ์ในมิติทั้งทางกว้างและทางลึก ทั้งยังเป็นการรวบรวมและกระจายองค์ความรู้ แนวความคิด กระแสปฏิบัตินิยมได้อย่างดี และสามารถยังประโยชน์ต่อการกำหนดแผน นโยบาย ที่ได้จากการระดมความคิดอย่างเป็นระบบ ขององค์กร ชมรม กลุ่มสมาคม จนถึงระดับประเทศอย่างสภาพการเกษตรฯ อันเป็นรากฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ที่สามารถนำมาใช้ในสังคมอาชีพเกษตรกรรม

ฐ. ด้านผู้นำการคัดเลือกและการได้มาซึ่งผู้นำองค์กรกลุ่มต่างๆ ต้องตระหนักถึงการบริหาร การจัดการองค์กร ระบบการคัดเลือกผู้นำที่จะมาทำหน้าที่ บริหารองค์กรต้องโปร่งใส ยุติธรรม ตลอดจนต้องมีระบบควบคุมการบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และสมาชิก มีระบบตรวจสอบให้ปราศจากเงื่อนไขการทุจริต คอร์รัปชั่น อันเป็นเหตุแห่งความล้มเหลวทั้งปวง

ฑ. ด้านนโยบายทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น นโยบายการตลาดคู่ค้า หรือแม้กระทั้งนโยบายในส่วนภาครัฐ ล้วนแล้วเป็นการกำหนดการกระทำในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีผลทั้งทางบวกและลบ ต่ออาชีพ ธุรกิจ กิจการการค้า ผลกระทบอาจเกิดขึ้นทันใด หรืออาจเกิดผลอื่นๆ ตามมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นนโยบายและแผนทุกระดับคงต้องมีการเรียนรู้และศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อนประกาศใช้

ฒ. ด้านปัจจัยเอื้อต่อการผลิตและการค้า ทุกเหตุการณ์มักมีที่มา การค้ามักสัมพันธ์ต่อการผลิต เหตุปัจจัยที่เอื้อต่อการผลิต มิได้เกิดขึ้นเองจากธรรมชรติ เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังสามารถเกิดได้จากการสร้างแบบจงใจ อันเป็นเทคนิคเฉพาะตัวในแต่ละสาขา วิธีการคิดที่เป็นมิติซับซ้อน คงต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญ ที่เกิดจากการฝึกฝนจนเกิดความต่าง

ณ. ด้านการพัฒนาสินค้าใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด พร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจ การบริโภคตามกระแสนิยม เป็นดัชนีชี้วัด การเติบโตทางเศรษฐกิจ การปรับตัวทางการผลิตมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ตามกระแส บางครั้งอาจเป็นเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น หรือบางครั้งอาจจะพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นไปเลยก็ได้ เกษตรกรต้องมีความคิดสร้างสรรค์ หาโอกาสที่จะเรียนรู้ และปรับตัวด้านการผลิตให้ครองใจผู้บริโภคตลอดเวลา

ด. การทำคุณภาพและรักษาคุณภาพสินค้า ผลิตภัณฑ์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งเกิดจากการทดลองและยอมรับ หากผู้ผลิตขาดความใส่ใจให้ความสำคัญด้านคุณภาพ อาจจะมีผลต่อฐานการตลาด และเป็นช่องทางการเติบโตของคู่แข่งได้

ต. เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว หรือการปฏิบัติก่อนส่งสู่ผู้บริโภค เป็นกระบวนการที่เกษตรกร ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะสามารถทำให้สินค้าคงสภาพดีจนถึงมือผู้บริโภค สร้างความชอบและประทับใจในตัวสินค้าเอง

ถ. การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ในระยะแรกของการผลิตสินค้า ความสามารถในการเข้าถึงและรู้จักสินค้าคงเป็นไปได้ยาก แม้การผลิตที่มียาวนานก็ต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการนี้เช่นกัน เพื่อให้ตลาดผู้บริโภคหรือพ่อค้าคนกลาง ผู้ขายผู้ส่งออกได้รู้จัก ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี ให้เหมาะสมกับสินค้า สภาพสังคม ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน

ท. การกระจายความเสี่ยงในการผลิต การผันแปรสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนทุกเวลา ผู้ผลิตควรกำหนดให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ ทั้งปริมาณ และชนิดผลิตภัณฑ์ เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการผลิตเกินอุปทาน หรือแม้กระทั้งผลิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นสินค้าเกษตรบางชนิดอาจจะผลิตนอกฤดูกาล เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้อีกด้วย

ธ. ด้านการค้า การตลาด การลดช่องว่างความเสี่ยงทางธุรกิจการค้า จากวิสัยทัศน์นักการตลาดที่มาจากเกษตรกร อาจจะประสบปัญหาด้านการวางแผนทางการตลาดพอสมควร และคงต้องเพิ่มทักษะ ประสบการณ์อีกพอสมควร บางครั้งขาดปัจจัยเอื้อรวมถึงเวลาที่ทุ่มเท เพื่อการผลิต การสร้าง แบรนด์ การจัดแสดงสินค้างานต่าง ๆ ตามโอกาส หรือจัดเวลาหลังฤดูปฏิบัติการ แม้กระทั้งเพิ่มรูปแบบชนิดสินค้าก็สามารถกระจายความเสียงทางการตลาดได้มาก

น. การรวมกลุ่ม ทางการผลิต และการตลาด สามารศักยภาพ ความเข้มแข็งและยังสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองในระบบผลิต และจำหน่าย สามารถเกื้อกูลในการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี สามารถแบ่งหน้าที่ได้อย่างชัดเจน คล่องตัวสอดคล้องต่อการผลิตและจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้เหมาะสมกับการดำเนินการ หรือใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ถึงระบบสหกรณ์ ที่สามารถจัดรวบรวมผลผลิต ติดต่อธุรกิจการค้า อย่างมีระบบ มีทีมบริหาร และปฏิบัติงานแบบตัวแทน ในกลุ่มชนิดสินค้าแบบเดียวกันให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด

บ. ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย ของเหลือใช้จากระบบการผลิต ในกิจกรรมการผลิตสินค้าเกษตร หลายขั้นตอน หลายกิจกรรม เกิดปัญหาจากของเหลือในระบบ แนวทางการนำมาใช้ใหม่ นำมาใช้ซ้ำ หรือแปรรูปนำมาใช้ในสภาพที่เหมือนและหรือแตกต่างกันออกไป เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะระบบการค้าในระดับสากลให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ดังนั้นในระบบการผลิต ที่มีการเตรียมตัว และปรับตัวที่ไปสู่การค้า อย่างไรการกีดกันผู้ประกอบการ พึงการต้องปฏิบัติ เรียนรู้ และเตรียมตัวสู่การค้าสีเขียว ที่เป็นวิธีการหนึ่งในการกีดกันทางการค้าอย่างหลีกเลี่ยงมิได้(Green Trade and Green marketing)

ป. การเปิดเผยข้อมูลจริง ในธุรกิจการค้าบางเวลา บางเงื่อนไข หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง มักมีข้อมูลบางประเด็นที่มิยอมเปิดเผยในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งอาจมีผลเชิงประจักต์ ทั้งทางบวกและทางลบ ต่อสถานการณ์ที่มีการคาดหวัง การรับรู้ข้อเท็จจริง มีความสำคัญต่อการรับรู้และปรับตัว เพื่อการลดและกระจายความเสี่ยงในธุรกิจ

ผ. ด้านความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งของ ของเกษตรกร และธุรกิจความคิด ความแตกต่างของคน และสังคมที่เหลื่อมล้ำกันมาก จากระบบที่เกิดขึ้นเอง หรือถูกสร้างขึ้นมา อาจเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด และการกระทำของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อเกิดปัญหา การพัฒนาคน อาจมิได้ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด แต่ก็ถือไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิต ทักษะความรู้และอื่นๆ อีกมากมาย หากประชากรส่วนใหญ่มีคุณภาพแล้ว ก็จะสามารถนำพาทุกสิ่งทุกอย่างไปในทางที่ดีและถูกต้อง

ฝ. กระแสข่าว การโฆษณาชวนเชื่อ อย่างไรทิศทางและการควบคุมให้อยู่ในวิถีสุจริต อาจเกิดการหลงเชื่อ การยั้งคิดและตริตรอง ทำให้ผู้รับข้อมูลเข้าใจผิดในสิ่งที่โฆษณา อย่างเล็งเห็นผล เกษตรกรต้องมีสติ ไตร่ตรอง หรือมีหน่วยงานคอยเฝ้าระวัง ให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด กระทั้งไม่เกิดปัญหา

พ. ด้านความย่อหย่อน ในการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎ ระเบียบกติกาของสังคม เหตุปัญหาหลายต่อหลายครั้ง เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องปล่อยปละหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความสงบสุข หรือกระทำเพื่อป้องกันการกระทำความผิด อย่างถูกขั้นตอน และทำนองครองธรรม จึงมีผลให้เกิดปัญหา ยากจะเยี่ยวยา หาทางแก้ไข การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง เคร่งครัด จะสามารถแก้ปัญหาและทุเลาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นการป้องปรามมิให้เกิดการทุจริต ประพฤติมิชอบในและนอกระบบได้อีกด้วย

ฟ. ด้านการใช้งบประมาณ ภาระด้านการพัฒนาให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ทั้งยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกๆ ระดับ การใช้งบประมาณต้องมีการวางแผนการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไร้คอร์รัปชั่น และต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดอย่างเปิดเผย ชัดเจน รวมถึงการรับประกันงานตามหลักการหรือสัญญา

ภ. ด้านการซ่อมบำรุง ปรับปรุง พัฒนา การประกอบอาชีพเกษตรที่มีความยั่งยืนยาวนาน การทรุดโทรม สึกหรอของวัสดุภัณฑ์ เกิดขึ้นได้ตลอด เกษตรกรผู้มีหน้าที่ บำรุง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพเสมอ ควรต้องหมั่นตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ที่มิได้เป็นสมบัติส่วนตัว ก็คงต้องจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเฝ้าสังเกต ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นหมายถึงความสามารถที่จะผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมถึงการใช้ประโยชน์คุ้มค่า ของวัสดุภัณฑ์ที่เกิดจากงบประมาณการผลิตในทุกระดับ

ม. ระบบขนส่ง คมนาคม โลจีสติดก์ ในทุกภาคส่วนการผลิต ระบบการนำวัตถุดิบเข้าและการนำผลิตภัณฑ์ออกจากสถานประกอบการ เพื่อส่งจำหน่าย เป็นปัจจัยการบริหารจัดการที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของกระบวนการผลิต นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่องสถานที่ตั้งของสถานประกอบการที่เอื้อและเหมาะสมต่อการเดินทาง ขนส่งสินค้าไปยังปลายทางสู่ผู้บริโภคอีกหรือไม่ ความพร้อม ด้านคมนาคม ขนส่ง จะส่งผลต่อเสถียรภาพของธุรกิจ ด้วยเช่นกัน

ย. การผลิตและแปรรูป ท่ามกลางวัตถุดิบ เป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ลดภาวะความเสี่ยงในการหาปัจจัยการผลิต เกษตรกรผู้ผลิตเองก็สามารถจำหน่ายผลผลิตสะดวกด้วยเช่นกัน และหรืออาจเน้นให้ความสำคัญในเขตส่งเสริมการลงทุน ก็คงยังประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย

ร. ด้านการออกและแก้กฎหมาย ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน และอนาคตให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นการควบคุมซึ่งไร้ศักยภาพและเสริมสร้างความเป็นธรรม บนพื้นฐานธรรมาภิบาล ภายใต้ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงาม อย่างสร้างสรรค์

ข้อพิจารณา
สรุป/ข้อเสนอแนะ ซึ่งอาจจะเป็นการพิจารณาในส่วนผู้เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่อง แต่ละหน่วยงาน ท้ายสุดก็เพื่อเสริมสร้างความสุข แก่ประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรผู้ที่ยังรอโอกาสและความหวังต่อไป

บทความโดย อุดม ฐิตวัฒนะสกุล